
อนุสาวรีย์สุนทรภู่
ประวัติสุนทรภู่ สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นกวีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งได้รับการยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งเมืองไทย เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนัก ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และเมื่อสิ้นรัชกาล ก็ได้ออกบวชเป็นเวลา 20 ปี ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) สุนทรภู่ มีบิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยเชื่อถือตาม พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง ชีวิตและงานของสุนทรภู่ อีกทั้งยังมีปรากฏเนื้อความอยู่ใน นิราศเมืองแกลง ของสุทรภู่เองอีกด้วย เชื่อกันว่าในวัยเด็ก สุนทรภู่ได้ร่ำเรียนหนังสือกับพระใน สำนักวัดชีปะขาว ตามเนื้อความส่วนหนึ่งที่ปรากฏใน นิราศสุพรรณ และต่อมาในวัยหนุ่ม สุนทรภู่ได้ลอบรักกับนางข้าหลวงในวังหลังคนหนึ่ง ชื่อแม่จัน ซึ่งเป็นบุตรหลานผู้มีตระกูล จึงถูกกรมพระราชวังหลังกริ้ว จนถึงให้โบยและจำคุกคนทั้งสอง แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 จึงมีการอภัยโทษแก่ผู้ถูกลงโทษทั้งหมดถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากสุนทรภู่ออกจากคุก ก็เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง การเดินทางครั้งนี้สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง พรรณนาสภาพการเดินทางต่างๆ เอาไว้โดยละเอียด และลงท้ายเรื่องว่า แต่งมาให้แก่แม่จัน กลับจากเมืองแกลงคราวนี้ สุนทรภู่จึงได้แม่จันเป็นภรรยา แต่กลับจากเมืองแกลงเพียงไม่นาน สุนทรภู่ต้องติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็กตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชาที่พระพุทธบาท สระบุรีในปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. 2350 สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศพระบาท พรรณนาเหตุการณ์ในการเดินทางคราวนี้ด้วย สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์เมื่อ พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงแต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ติดขัดไม่มีผู้ใดต่อกลอนได้ต้องพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สุนทรภู่ทดลองแต่ง ปรากฏว่าแต่งได้ดีเป็นที่พอพระทัย จึงทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น ขุนสุนทรโวหาร สุนทรภู่รับราชการอยู่เพียง 8 ปี เมื่อถึงปี พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นสุนทรภู่ก็ออกบวช หลังจากลาสิกขาบท สุนทรภู่ได้รับพระอุปถัมภ์จากเจ้าฟ้าน้อย หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และได้แต่งเรื่อง พระอภัยมณี ถวายให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์สืบต่อมา ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าน้อยขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีบรรดาศักดิ์เป็น พระสุนทรโวหาร สุนทรภู่พำนักอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอนั่งของพระยามนเทียรบาล (บัว) มีห้องส่วนตัวเป็นห้องพักกั้นเฟี้ยมที่เรียกชื่อกันว่า "ห้องสุนทรภู่" เชื่อว่าสุนทรภู่พำนักอยู่ที่นี่ตราบจนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2398 สิริรวมอายุได้ 69 ปี ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา พระอภัยมณี และอื่นๆ อีกมากมายค่ะ อีกทั้งยังมีงานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ที่เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันอีกด้วย โดยเฉพาะงานประพันธ์เรื่อง พระอภัยมณี ที่ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่า เป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด และในปี พ.ศ.2529 สุนทรภู่ ยังได้รับยกย่องจาก องค์การยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรมอีกด้วย ด้วยผลงานมากมายของสุนทรภู่ที่มีความงดงามในด้านงานประพันธ์ ทำให้ทุก วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็น วันสุนทรภู่ ซึ่งเป็นวันสำคัญด้านวรรณกรรมของไทย โดยแต่ละที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริม และอนุรักษ์ศิลปะการประพันธ์บทกวีของไทยเรานั่นเองค่ะ โดยเฉพาะที่ จังหวัดระยอง บริเวณ อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่จะมีการจัดการแสดงพื้นบ้าน ขบวนแห่ต่างๆ เพื่อรำลึกถึงสุนทรภู่เป็นประจำทุกปี ที่อยู่ : ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เปิดให้เข้าชม : 06.00-18.00 น.
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.blcp.co.th/web/post_detail/-20240610121456
ภาพประกอบ


